ห้องน้ำแบบไหนที่ใช่สำหรับผู้สูงอายุ
สถิติการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุมาจากห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ จึงควรให้ความสำคัญในการออกแบบส่วนต่างๆในห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการใช้งาน
ประตู
มาเริ่มที่ประตูกันก่อนเลย ควรกว้างอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อความสะดวกในผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น และจะให้ดีควรเป็นบานเลื่อนเพราะง่ายต่อเปิด-ปิด และคนในครอบครัวสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน
พื้นห้องน้ำ
พื้นที่ภายในห้องน้ำ ควรมีความกว้าง 1.50-2 เมตร เพื่อให้สะดวกในการหมุนกลับตัวของรถเข็น พื้นภายในและภายนอกห้องน้ำ พื้นควรเรียบและมีระดับเดียวกันเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม วัสดุปูพื้นต้องไม่ลื่นหรือมันวาว ควรมีความหยาบพอประมาณเพื่อป้องกันการลื่นล้ม
สุขภัณฑ์
ควรเลือกใช้ชักโครกที่มีความสูงจากพื้นประมาณ 43-45 เซนติเมตร เป็นระดับที่ผู้สูงอายุจะสะดวกในการลุกนั่ง และมีราวจับด้านข้างชักโครก ในส่วนของอ่างล้างหน้าควรมีความสูงในระดับที่พอดีกับผู้สูงอายุ
โซนอาบน้ำ
ควรมีเก้าอี้นั่งแบบเคลื่อนย้าย หรือพับเก็บได้ ที่สำคัญคือต้องวางตั้งได้อย่างมั่นคง ไม่ลื่น ส่วนฝักบัวเป็นแบบปรับระดับได้ มีแรงดันต่ำ เลือกตัวเปิดแบบก้านโยก ติดตั้งในบริเวณที่ผู้สูงอายุไม่ต้องเอี้ยวหรือบิดตัวเพื่อใช้งาน ควรใช้ท่านกั้นอาบน้ำแทนการใช้กระจก และหลีกเลี่ยงการใช้อ่างอาบน้ำ
แสงสว่าง
แสงสว่างในห้องน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ถ้าห้องน้ำมีไฟน้อยควรเพิ่มแสงสว่างด้วยการติดหลอดไฟให้มากขึ้น แสงที่เหมาะสมควรเป็นแสงสีขาว เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้ของต่างๆ และมองเห็นอย่างชัดเจน
สัญญาณฉุกเฉิน
เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ติดตั้งในบริเวณที่สามารถใช้งานได้ง่าย เช่น ข้างสุขภัณฑ์ ให้คนภายนอกสามารถรับรู้ถึงความผิดปกติและเข้ามาช่วยได้ทัน